วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 22:21 น. ( อ่านแล้ว 710 ครั้ง ) | ||
ศาลเจ้าแม่สุชาดา
ตามตำนานกล่าวว่า มีนางเทวดาตนหนึ่งลงมาเกิดเป็นมนุษย์ ชื่อว่านางสุชาดา เพื่อที่จะอุปัฏฐากพระมหาชินธาตุเจ้า ครั้งหนึ่งพระมหาเถรเจ้า เจ้าอาวาสผู้ปกครองวัดนั้น ดำริจะแกะสลักพระด้วยไม้แก่นจันทร์ แต่หาไม่ได้ พญานาคจึงได้เนรมิตแก้วมรกตไว้ในแตงโม และนำไปวางไว้ในสวนดอกไม้ของนางสุชาดา เมื่อนางสุชาดาพบจึงนำแตงโมไปถวายพระมหาเถรเจ้า พระมหาเถรเจ้าจึงพบแก้วมรกต และจะสลักพระพุทธรูปด้วยมรกตที่พบในผลแตงโมนั้น พระอินทร์จึงได้จำแลงมาขันอาสาสลักให้ และเนรมิตให้เป็นองค์พระปฏิมากรแก้วมรกตงดงาม ทว่าต่อมานางสุชาดากลับถูกท้าวพระยาผู้ครองเมืองสั่งให้ประหารชีวิต เพราะมีข้อครหาว่าประกอบมิจฉาจารกับพระมหาเถรเจ้า ก่อนถูกประหาร นางสุชาดาได้อธิษฐานว่า หากนางบริสุทธิ์ ขอจงอย่าให้โลหิตตกลงพื้นดิน เมื่อเพชฌฆาตลงดาบ เลือดของนางได้หายไปในอากาศ ท้าวพระยาผู้ครองเมืองก็เกิดธรรมสังเวชอกแตกตาย เหตุนี้ พระพุทธรูปองค์ดังกล่าวจึงได้ชื่อว่าพระแก้วดอนเต้า ก็เพราะสลักจากหินรัตนชาติ หรือมรกต ที่ชาวล้านนานิยมเรียกรวม ๆ ว่าแก้ว โดยหินแก้วนี้อยู่ในผลแตงโม ภาษาพื้นถิ่นเรียกว่าบะเต้า ดังนั้น พระแก้วดอนเต้าก็หมายถึงพระแก้วดอนแตงโมนั่นเอง และวัดที่เชื่อว่าเป็นที่กำเนิดของพระแก้วดอนเต้านี้ จึงมีชื่อเรียกว่าวัดพระแก้วดอนเต้า ทั้งนี้ ภายหลังบ้านเมืองเกิดความอดอยาก พระมหาเถรเจ้าได้ไปอยู่ที่เมืองลัมพกัปปะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุลำปางหลวงในปัจจุบัน และได้นำเอาพระแก้วมรกตดอนเต้าไปอยู่ ณ วัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งแต่นั้นมาหลังเหตุการณ์ประหารชีวิตที่สั่นสะเทือนผู้คนไปทั้งเมือง ก็ได้มีการสร้างวัดสุชาดารามขึ้นบริเวณที่เชื่อกันว่าเป็นบ้านของนางสุชาดา เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของนาง นอกจากนี้ วัดนางเหลียวที่อยู่ถัดไปไม่ไกล ก็ถูกสร้างขึ้นตรงจุดที่นางสุชาดาเหลียวกลับมามองบ้านของตนเองเป็นครั้งสุดท้าย
สำหรับบริเวณสถานที่ประหารชีวิตนางสุชาดานั้น หลวงพ่อเกษม เขมโก ซึ่งมีเชื้อสายเจ้าเมืองลำปาง ได้ให้เจ้าประเวทย์ ณ ลำปาง และลูกหลานสกุล ณ ลำปาง ร่วมกันบอกบุญสร้างอนุสาวรีย์เจ้าแม่สุชาดาในปี พ.ศ. 2517 และต่อมานายประเวทย์ ณ ลำปาง ก็ดำเนินการใช้ทุนทรัพย์จากหลวงพ่อเกษม เขมโก สร้างสะพานเสตุวารี สะพานข้ามแม่น้ำวังใกล้กับอนุสาวรีย์เจ้าแม่สุชาดา ในปี พ.ศ. 2527
ที่มาข้อมูล https://www.lannapost.net/2018/06/blog-post_56.html
| ||