ตานขันข้าว หมายถึง การนำสำรับอาหารไปถวายพระภิกษุหรือผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ การถวายขันข้าว(ตานขันข้าว)เป็นประเพณีหนึ่งของชาวล้านนาที่สืบทอดกันมาเป็นเวลานานเป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้วเป็นวัฒนธรรมที่แสดงถึงความกตัญญูโดยนำสำรับอาหารไปถวายพระภิกษุที่วัดในวันเทศกาลสำคัญต่างๆหรือทำบุญอุทิศส่วนกุศลในโอกาสอื่นๆ การทำบุญให้ตนเองเพื่อเป็นการสะสมบุญเพื่อความเป็นสิริมงคล ส่วนใหญ่นิยมทำกันในวันพระหรือวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันพญาวันหรือในวันอื่นๆ เช่น วันคล้ายวันเกิด วันขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น
ในวันดังกล่าวจะนำภัตตาหาร เครื่องอุปโภค บริโภค ไปถวายพระ ที่วัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้พ่อ แม่ ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว แม่พระธรณี เจ้าที่ เจ้าทาง ครูบาอาจารย์ เจ้ากรรมนายเวรและสรรพสัตว์ทั้งหลาย
การถวายขันข้าว(ตานขันข้าว)นี้ ชาวล้านนาเชื่อว่าเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จะช่วยให้วิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว มีอาหารการกินและมีสิ่งของเครื่องไว้ใช้ไม่อดอยากหรือเป็นการทำบุญให้กับตนเองในภายภาคหน้า เพื่อให้มีกินมีใช้ มีความเป็นอยู่สุขสบาย การจัดสำรับอาหารที่นำไปทำบุญจะแยกเป็นสำรับสำหรับญาติพี่น้องแต่ละคน นอกจากนี้ ต้องเตรียมดอกไม้ ธูป เทียน และ น้ำสำหรับกรวดน้ำ เขียนชื่อของ พ่อ แม่ ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ให้พระสงฆ์อ่าน เพื่อให้คนที่เราอุทิศส่วนบุญกุศลได้รับส่วนบุญกุศลไว้ หลังจากพระสงฆ์รับประเคนขันข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ศีลให้พร อุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ก็จะกรวดน้ำเป็นอันเสร็จพิธี
การถวายขันข้าว(ตานขันข้าว) ในปัจจุบันนี้ มีความแตกต่างไปจากอดีตชาวบ้านไม่นิยมแบ่งอาหารออกเป็นส่วนๆ แต่จะนำใส่ภาชนะที่มิดชิด เช่น ปิ่นโต หรือหม้อ ไปถวายพระสงฆ์ เนื่องจากทำให้มีความสะดวกซึ่งเป็นการทำบุญ อุทิศส่วนกุศลไปให้พ่อ แม่ ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วยังทำให้พระสงฆ์ได้มีสิ่งของสำหรับอุปโภคบริโภค นอกจากนี้แล้วยังเป็นการช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป จึงควรอนุรักษ์ประเพณีการตานขันข้าวไม่ให้สูญหาย ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำบุญ ที่แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษแล้ว การประกอบอาหารและการไปทำบุญร่วมกันที่วัด เป็นกิจกรรมที่ทำให้ครอบครัวเกิดความรัก ความอบอุ่น ประการสำคัญ การพาลูกหลานไปตานขันข้าวที่วัด นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมแล้วยังเป็นการสืบทอดในเรื่องความกตัญญูต่อบรรพบุรุษโดยไม่ต้องใช้วิธีอบรมสั่งสอน แต่เป็นวิธีที่ผู้ใหญ่ได้ปฏิบัติตนให้ลูกหลานได้เห็นเป็นตัวอย่างซึ่งเป็นวิธีสืบทอด หรือการสอนที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง
การถวายขันข้าว(ตานขันข้าว) มีจุดมุ่งหมายคือ
เพื่ออุทิศให้แก่
ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
เพื่อตัวเอง
เพื่อบูชาคน
เพื่อเทวดา
เจ้ากรรมนายเวร
ของที่ต้องเตรียมในการถวายขันข้าว (ตานขันข้าว)
- - กรวยใบตอง (สวยดอกไม้)
- - ดอกไม้
- - ธูป – เทียน
- - อาหารคาว – หวาน
- - อุปกรณ์สำหรับกรวดน้ำ
- - ชื่อ – นามสกุลของผู้ล่วงลับ/ผู้ที่เราจะทำบุญ
ขั้นตอนการปฏิบัติการถวายขันข้าว(ตานขันข้าว)
เริ่มจากการประเคนสำรับอาหารที่เราได้จัดเตรียมไว้ ให้พระภิกษุสงฆ์ หลังจากนั้น พระสงฆ์ก็จะให้ศีลให้พร และกล่าวโวหารการทำบุญในเรื่องต่าง ๆ โดยพระสงฆ์จะอ่านชื่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วตามที่ญาติโยมเขียนมาพร้อมกับสำรับอาหาร เพื่อให้ผลบุญส่งไปถึง หรือหากไม่ได้เขียนชื่อของผู้ล่วงลับมา ก็จะเป็นการกล่าวถึงบรรพบุรุษ เจ้ากรรมนายเวร เทวบุตร เทวดา พระแม่ธรณี เจ้าที่ เจ้าทาง ฯลฯ แทน พร้อมปิดท้ายด้วยการให้ศีลแก่ญาติโยม ประเพณีถวายขันข้าว(ตานขันข้าว)ถือเป็นอีกหนึ่งประเพณีสำคัญทางภาคเหนือ ที่นอกจากจะเป็นการทำบุญที่แสดงให้เห็นถึงความกตัญญูแล้ว การไปวัดหรือการร่วมกันทำอาหาร การตระเตรียมข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ยังเป็นเหมือนกับการให้ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน แสดงให้เห็นถึงความรัก ความอบอุ่นของคนในครอบครัว ที่สำคัญยังเป็นการช่วยกันอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญของภาคเหนือไว้สืบไป