เทียนบูชาล้านนา


วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 19:46 น. ( อ่านแล้ว 1195 ครั้ง )

         ความเชื่อของชาวล้านนาเกี่ยวกับเทียนบูชาเป็นความยึดถือของทุกคนทุกรุ่นทุกสมัย  ซึ่งจะเกิดจากสิ่งที่มีอำนาจเหนือมนุษย์ เหนือธรรมชาติ เช่น อำนาจของดินฟ้า ภัยจากธรรมชาติ  หรือเหตุการณ์ที่มนุษย์ไม่อาจรู้สาเหตุว่าเกิดจากอะไรจึงเกิดความรู้สึกยอมรับ  นับถือ  และเชื่อถือในอำนาจลี้ลับของสิ่งเหล่านี้ บางครั้งก็วิงวอนขอต่อสิ่งที่ตนเชื่อถือ

 การบูชาเทียน  เป็นพิธีกรรมที่ชาวบ้านทางเหนือของประเทศไทย เชื่อกันว่าเมื่อได้มีการทำพิธีการบูชาเทียนนี้แล้ว  จะช่วยป้องกันและปัดเป่าความโชคร้ายและเคราะห์ร้าย ต่างๆ  ที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองให้รอดพ้นจากภัยอันตรายต่างๆ และทำให้มีโชคลาภและอายุยืนยาว  ความเชื่อในเรื่องการบูชาเทียนนี้ไม่ได้มีเฉพาะชาวล้านนาทางภาคเหนือเท่านั้น  แต่ยังมีอีกหลายภาค  หลายประเทศที่มีความเชื่อแบบเดียวกัน  แต่ในพิธีการทำเทียนนั้นอาจคล้ายคลึงกัน หรือแตกต่างกันออกไป

ประเภทของเทียนบูชา

โดยเทียนที่จะใช้ในการพิธีบูชาเทียนนี้ แบ่งออกได้ ๓ ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

     ๑.การบูชาเทียนสะเดาเคราะห์  ใช้จุดเพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายและภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นออกไปจากตนเอง

๒.การบูชาเทียนสืบชะตา  ใช้จุดเพื่อต่ออายุตนเอง ให้มีอายุยืนยาวและมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงไม่ป่วยไข้

๓.การบูชาเทียนรับโชค  ให้จุดเพื่อเป็นการเสริมดวงชะตาตามราศี  ทางด้านโชคลาภให้มีโชค มีลาภแก่ตนเอง  ถูกหวยรวยทรัพย์ ได้ขายที่ดิน ที่สวน ที่นา ที่บ้าน เป็นต้น

วิธีการบูชาเทียน(การจุดเทียนด้วยตนเอง )

๑. เมื่อได้รับเทียนบูชาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแบบลงชื่อในแท่งเทียนหรือไม่ก็ตาม ให้เก็บรักษาเทียนไว้ในที่เหมาะสม ไม่ให้ใครเหยียบย่ำข้ามผ่านโดยเจตนา (กรณีเป็นเหตุสุดวิสัย ไม่ได้เจตนา ไม่เป็นไร)

๒. เมื่อถึงวาระฤกษ์ที่เหมาะสม เช่น วันนักขัตฤกษ์ต่างๆ, วันประเพณี, วันตามตำราจุดเทียนของครูบาศรีวิชัยก็ให้เตรียมชุดดอกไม้ไหว้พระ ๑ ชุด และเทียนเล่มเล็ก ๒ เล่ม

  • ชุดดอกไม้บูชาพระ สามารถจัดใส่ใน “สวยดอก” หรือ กรวยทรงแหลมใส่ดอกไม้ ประดิษฐ์จากใบตองหรือกระดาษ ใส่ข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน เพื่อใช้เป็นเครื่องสักการะบูชา หรือจัดเป็น “ขันดอก” คือนำเอาดอกไม้ ธูปเทียน ใส่ลงในภาชนะ เช่น พานหรือจาน สำหรับเป็นเครื่องสักการะบูชา

๓. ก่อนจะเริ่มจุดเทียน ให้ยกสวยดอก หรือขันดอกไม้ วางหน้าหิ้งพระ, หรือหันหน้าไปทางทิศตะวันออก วางเครื่องสักการะไว้ข้างหน้า ตั้งนะโม ๓ จบ หรือบทบูชาพระพุทธเจ้า คือ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ ครั้ง)

๔. นำเทียนจุดหน้าหิ้งพระ หรือในที่อันเหมาะสม สามารถจุดวางได้ทุกที่ตามความสะดวก เว้นปลายเท้า ปลายเตียง หรือหน้าห้องน้ำ รอให้เทียนหมดจนดับไปเอง 

“เชื่อแต้ ศรัทธาแต้ ตึงดีแต้ "

“ศรัทธา” นำมาซึ่ง “ปาฏิหาริย์” เชื่อไม่เชื่ออย่างไรโปรดอย่าได้ “ลบหลู่”.