วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 เวลา 13:02 น. ( อ่านแล้ว 624 ครั้ง ) | ||
พิธีสืบชะตา เป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของชาวล้านนา ที่เชื่อกันว่าเป็นการต่ออายุหรือต่อชีวิตของบ้านเมืองหรือของคนให้ยืนยาว มีความสุข ความเจริญ
ตลอดจนเป็นการขจัดภัยอันตรายต่างๆ ที่จะบังเกิดขึ้นให้แคล้วคลาดปลอดภัย
แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ
1. สืบชะตาคน
นิยมทำเมื่อขึ้นบ้านใหม่ ย้ายที่อยู่ใหม่ ได้รับยศหรือตำแหน่งสูงขึ้น วันเกิดที่ครบรอบ เช่น 24 ปี 36 ปี 48 ปี 60 ปี 72 ปี เป็นต้น หรือฟื้นจากป่วยหนัก หรือมีผู้ทักทายว่าชะตาไม่ดี จำเป็นต้องสะเดาะเคราะห์และสืบชะตา เป็นต้น
2. สืบชะตาบ้าน
นิยมทำเมื่อคนในหมู่บ้านประสบความเดือดร้อน หรือเจ็บไข้ได้ป่วยกันทั่วไปในหมู่บ้าน หรือตายติดต่อกันเกิน 3 คนขึ้นไป ถือเป็นเสนียดของหมู่บ้าน คนในหมู่บ้านอาจพร้อมใจกันจัดในวันปากปี ปากเดือน หรือปากวัน คือวันที่หนึ่ง สอง หรือสามวันหลังวันเถลิงศก เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล บางท้องถิ่นมีการทำพิธีในวัดประจำหมู่บ้าน
3. สืบชะตาเมือง
จัดขึ้นเมื่อบ้านเมืองเกิดความเดือดร้อนจากอิทธิพลของดาวพระเคราะห์ตามความเชื่อทางโหราศาสตร์ เพราะทำให้บ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวาย เพราะการจลาจลการศึก หรือเกิดโรคภัยแก่ประชาชนในเมือง
เจ้านายท้าวพระยาบ้านเมืองจึงจัดพิธีสืบชะตาเมือง เพื่อให้อายุของเมืองได้ดำเนินต่อเนื่องสืบไป
เครื่องประกอบพิธีสืบชะตามีประกอบด้วย ไม้ค้ำยาวเท่าตัว 3 ท่อน
ทำจากไม้ง่ามมีขนาดประมาณกำมือได้รอบ หรือโตกว่าเล็กน้อย
ไม้ค้ำเล็กขนาดหัวแม่มือยาว 1 ศอก จำนวนเท่าอายุ หรือมากกว่าแต่ไม่เกิน 108 /บันได 7 ขั้น หรือ 9 ขั้น / ทำกระดาษทอง เงิน หมากพลู บุหรี่ เมี่ยง ข้าวตอก ดอกไม้ร้อยด้วยด้าย เรียกว่า ลวดคำ ลวดเงิน ลวดหมาก ลวดเมี่ยง ลวด นำมามัดกับบันไดที่ทำ
หม้อน้ำดื่มและกระบวย / หม้อเงิน หม้อทอง / เสื่อ หมอน (ใหม่) / ไม้สะพาน ใช้ไม้ไผ่หรือไม้เนื้อแข็ง ทำ 2 สะพานทำให้ติดกัน
ตุงค่าคิง (ธงยาวเท่าตัวของเจ้าภาพ) / เทียนค่าคิง สีสายเท่าคิง (เทียนยาวเท่าตัว และฝ้ายยาวเท่าตัวชุบด้วยน้ำมันพืชสำหรับจุดเป็นพุทธบูชา)
กระบอกทราย หรือข้าวสาร ใช้ไม้อ้อยาวเท่านิ้วมือบรรจุทรายหรือข้าวสาร จำนวน 2 กระบอก / กระบอกน้ำ ใช้ไม้อ้อ 12 กระบอก / เทียน 4 เล่มหรือเท่าอายุ แต่ไม่เกิน 108 / ช่อน้อย ตุงไชย จำนวน 4 หรือเท่าอายุ แต่ไม่เกิน 108
ข้าวเปลือก 1 หมื่น (10 ลิตร) ข้าวสาร พัน (หนึ่งลิตร)
งอกมะพร้าว / หน่ออ้อย / หน่อกล้วยกล้วยแก่ เครือ / มะพร้าว 1 ทะลาย / สะตวงหรือกระทงกาบกล้วยใส่เครื่องสรรพโภชนาหาร / ฝ้ายมงคล (ด้ายสายสิญจน์)
อย่างสุดท้ายที่สำคัญคือบายสีนมแมวจีบด้วยใบตองประดับดอกไม้ต่างๆ ใส่ข้าว ขนม ผลไม้
นําเครื่องประกอบพิธีทั้งหมดนำมารวมกันตั้งกันไว้ มีไม้ค้ำใหญ่ 3 อันเป็นหลัก ให้ปลายของไม้แต่ละเล่มค้ำสุมรวมกัน แล้วนำของต่างๆ วางไว้ที่โคนไม้ค้ำ มัดรวมกับไม้ค้ำบ้าง ไว้ข้างบนสุดยอดไม้ค้ำบ้าง
การสืบชะตาโดยทั่วไปใช้พระสงฆ์ประกอบพิธี 9 รูป เพื่อสวดพระปริตร สวดชยันโต ให้ศีลให้พร ฟังเทศน์สังคหะและเทศน์สืบชะตาตัวแทนที่เข้าไปนั่งในสายสิญจน์ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและครอบครัว
เป็นพิธีกรรมที่ทำมาแต่ครั้งพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน
ของประกอบพิธีทุกอย่างล้วนมีความหมาย มีปริศนาธรรมแฝงอยู่ทุกอย่าง เป็นประเพณีอย่างหนึ่งที่ชาวล้านนาได้ปฏิบัติสืบต่อๆ กันมา
เป็นสิ่งที่มีคุณค่า ควรรักษาสืบทอดต่อไปตลอดนานเท่านาน
| ||